SWOT คืออะไร ? พร้อมตัวอย่างการวิเคราะหธุรกิจ

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้นขึ้น นักการตลาดและนักวางกลยุทธ์ต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของธุรกิจ SWOT Analysis เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกประเภทของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่หน่วยงานไม่แสวงหากำไร สามารถปรับใช้ได้ในทุกสถานการณ์ และเป็นเครื่องมือที่มีความยืดหยุ่นสูงในการประยุกต์ใช้ตามความต้องการของแต่ละธุรกิจ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนการตลาดออนไลน์ เพราะช่วยให้ธุรกิจรู้จักตัวเองและสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ดียิ่งขึ้น

ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกว่า SWOT คืออะไร และเราจะใช้เครื่องมือนี้ในการวิเคราะห์ธุรกิจอย่างไร พร้อมตัวอย่างที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการวางแผนกลยุทธ์

SWOT คืออะไร

SWOT คือ เครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้ในการประเมินสถานการณ์ของธุรกิจหรือโครงการ โดยพิจารณาจากปัจจัยภายในและภายนอก SWOT ย่อมาจาก 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ S ย่อมากจาก Strengths (จุดแข็ง) , W ย่อมาจาก Weaknesses (จุดอ่อน) , O ย่อมาจาก Opportunities (โอกาส) และ T ย่อมาจาก Threats (อุปสรรค) เครื่องมือนี้ช่วยให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้อย่างชัดเจน และใช้ในการวางแผนกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาหรือรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

1. S : Strengths (จุดแข็ง)

จุดแข็ง คือ สิ่งที่ธุรกิจหรือองค์กรของคุณทำได้ดีหรือมีความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง มันเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจมีคุณค่าและสามารถดึงดูดลูกค้า ตัวอย่างเช่น
– สินค้า/บริการ Mass Marketing หรือ Niche Marketing
– ทรัพยากรบุคคลในองค์กรมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
– การบริการลูกค้าที่เหนือกว่าคู่แข่ง
– Branding แข็งแรงและได้รับความเชื่อถือ
สรุป การระบุ “จุดแข็ง” จะช่วยให้สามารถมุ่งเน้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถพัฒนาไปในทิศทางที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

2. W : Weaknesses (จุดอ่อน)

จุดอ่อน คือ สิ่งที่ธุรกิจยังขาดหรือต้องปรับปรุงเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น เป็นข้อจำกัดภายในที่อาจก่อให้เกิดการหยุดชะงักการเติบโตของธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
– งบประมาณจำกัดในการทำการตลาด
– ระบบการจัดการที่ยังไม่เป็นระบบ
– ขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย
– ช่องทางการจัดจำหน่ายที่ไม่ครอบคลุม
สรุป การระบุ “จุดอ่อน” เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถหาแนวทางมาปรับปรุงและป้องกันไม่ให้จุดอ่อนเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว

3. O : Opportunities (โอกาส)

โอกาสเป็นปัจจัยภายนอกที่สามารถช่วยส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของตลาด การเติบโตของกลุ่มลูกค้า หรือแนวโน้ม/เทรนด์ใหม่ ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ ตัวอย่างเช่น
– ความต้องการสินค้า/บริการที่เพิ่มขึ้นในตลาดใหม่
– การเติบโตของเทคโนโลยีที่สามารถช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน
– การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เปิดโอกาสใหม่ให้ธุรกิจ
สรุป การรู้จัก “โอกาส” จะช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนและดำเนินการเพื่อขยายตลาดหรือเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า/บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. T : Threats (อุปสรรค)

อุปสรรคเป็นปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดปัญหาหรือผลเสียต่อธุรกิจ เช่น การแข่งขันที่รุนแรง สภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน หรือภัยพิบัติธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น
– คู่แข่งใหม่ที่เข้าสู่ตลาดและมีสินค้า/บริการที่คล้ายกับคุณ
– การเปลี่ยนแปลงของนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลต่อธุรกิจ
– แนวโน้มตลาดที่เปลี่ยนไป
สรุป การวิเคราะห์ “อุปสรรค” ช่วยให้สามารถเตรียมตัวและหาแผนสำรองวิธีการจัดการกับสถานการณ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

ทำไมถึงสำคัญต่อธุรกิจ

SWOT Analysis เครื่องมือที่สำคัญต่อธุรกิจทุกประเภท เพราะช่วยให้ธุรกิจสามารถมองเห็นภาพรวมของสถานการณ์และประเมินปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. วิเคราะห์ภาพรวมธุรกิจอย่างเป็นระบบ

ช่วยให้ธุรกิจสามารถแยกแยะและระบุปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของธุรกิจได้อย่างชัดเจน การใช้เครื่องมือนี้จะทำให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนภายในองค์กร รวมทั้งโอกาสและอุปสรรคที่มาจากสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีข้อมูลที่ครบสำหรับการตัดสินใจในเรื่องกลยุทธ์

2. ช่วยในการวางแผนกลยุทธ์

เมื่อธุรกิจมีการวิเคราะห์อย่างถูกต้อง จะสามารถนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรู้จุดแข็งและโอกาสทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ดีอยู่แล้วและต่อยอดให้ดีขึ้น ส่วนการรู้จุดอ่อนและอุปสรรคทำให้ธุรกิจสามารถเตรียมพร้อมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

3. เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน

การรู้จุดแข็งของธุรกิจช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ เช่น การรู้ว่าสินค้าบริการของคุณมีคุณภาพสูงกว่า การให้บริการที่ดีขึ้น หรือมีความพิเศษบางอย่างที่คู่แข่งไม่มี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทำให้ธุรกิจสามารถใช้จุดแข็งเพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดและรักษาความเป็นผู้นำได้

4. ช่วยในการปรับปรุงและพัฒนา

จุดอ่อนที่ถูกระบุช่วยให้ธุรกิจทราบว่าต้องปรับปรุงหรือพัฒนาในเรื่องใด เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การฝึกอบรมพนักงาน หรือการเสริมความแข็งแกร่งในด้านการตลาด การระบุจุดอ่อนทำให้ธุรกิจสามารถตั้งเป้าหมายและกำหนดแผนการเพื่อพัฒนาในจุดที่ยังไม่ดีได้

5. ทำให้การตัดสินใจมีข้อมูลสนับสนุน

การตัดสินใจในธุรกิจ เช่น การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายตลาด หรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ สามารถทำได้อย่างมั่นใจขึ้นเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจน ธุรกิจจะสามารถคาดการณ์ผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการตัดสินใจที่ผิดพลาด

6. สร้างความตื่นตัวและเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

การระบุอุปสรรคทำให้ธุรกิจสามารถเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น หรือภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนล่วงหน้าและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว

7. ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือในองค์กร

การใช้เครื่องมือวิเคราะห์มักจะต้องการการทำงานร่วมกันจากทีมต่าง ๆ ในองค์กร เช่น ทีมการตลาด ทีมการผลิต และฝ่ายบริหาร การนำทุกคนมาทำงานร่วมกันเพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ช่วยสร้างความร่วมมือภายในองค์กร และทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการวางแผนกลยุทธ์

ขั้นตอนการวิคราะห์ SWOT

1. กำหนดเป้าหมายการวิเคราะห์

ก่อนเริ่มทำการวิเคราะห์ควรกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อให้การวิเคราะห์ตรงกับสิ่งที่ต้องการสำรวจ เช่น การประเมินความสามารถของธุรกิจในตลาดปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การวางแผนกลยุทธ์สำหรับแคมเปญการตลาด หรือการประเมินสถานการณ์ทางการเงิน เป้าหมายเหล่านี้จะช่วยให้การวิเคราะห์มีโฟกัสและได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์

2. รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายในประกอบไปด้วย จุดแข็ง (Strengths) และ จุดอ่อน (Weaknesses) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในธุรกิจ ต้องประเมินว่าสิ่งใดที่ทำให้ธุรกิจมีความสามารถที่เหนือกว่าคู่แข่ง (จุดแข็ง) และสิ่งใดที่ทำให้ธุรกิจยังต้องพัฒนาและปรับปรุงต่อ (จุดอ่อน)

3. วิเคราะห์ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายนอก ได้แก่ โอกาส (Opportunities) และ อุปสรรค (Threats) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธุรกิจ แต่มีผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง สิ่งเหล่านี้อาจมาจากตลาด เศรษฐกิจ คู่แข่ง หรือแนวโน้มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม

4. จัดหมวดหมู่ข้อมูลที่รวบรวมได้

หลังจากรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจุดแข็ง , จุดอ่อน , โอกาส และอุปสรรคแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ จัดหมวดหมู่ข้อมูลให้เป็นระเบียบ แล้วทำการวิเคราะห์

5. วิเคราะห์ผลและสร้างกลยุทธ์

เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแล้ว ทำการวิเคราะห์ผลเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม โดยสามารถใช้ข้อมูลที่ได้มาเพื่อสร้างกลยุทธ์ที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจและใช้ประโยชน์จากปัจจัยต่าง ๆ ได้ เช่น ใช้จุดแข็งเพื่อคว้าโอกาสใหม่ , หาวิธีลดจุดอ่อนเพื่อป้องกันอุปสรรค และปรับปรุงหรือพัฒนาจุดแข็งเพื่อทำให้ธุรกิจมีความพร้อมมากขึ้น

6. ติดตามผลและปรับปรุงกลยุทธ์

การวิเคราะห์ข้อมูลไม่ใช่กระบวนการที่ทำครั้งเดียวแล้วเสร็จ การติดตามผลและปรับปรุงกลยุทธ์ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งสำคัญ ควรประเมินการดำเนินงานเป็นระยะเพื่อดูว่ากลยุทธ์ใช้ได้ผลหรือไม่ หรือหากมีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามา เช่น การเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือการเกิดขึ้นของคู่แข่งใหม่ ก็ควรทำการวิเคราะห์ใหม่เพื่อปรับปรุงแผนกลยุทธ์ให้ทันต่อสถานการณ์

ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น เราจะใช้ตัวอย่างการวิเคราะห์สำหรับ “ร้านกาแฟขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเมือง” โดยเราจะวิเคราะห์จาก 4 องค์ประกอบ คือ จุดแข็ง (Strengths) , จุดอ่อน (Weaknesses) , โอกาส (Opportunities), และอุปสรรค (Threats)

1. จุดแข็ง (Strengths) : สิ่งที่ธุรกิจทำได้ดีหรือมีความได้เปรียบกว่าคู่แข่ง
– ทำเลที่ตั้งดี : ร้านตั้งอยู่ในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน ใกล้กับมหาวิทยาลัยและออฟฟิศ ทำให้มีลูกค้าประจำที่มาใช้บริการในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น เช้าก่อนไปทำงานและช่วงพักกลางวัน
– กาแฟคุณภาพสูง : ร้านใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพสูง นำเข้าจากแหล่งปลูกที่มีชื่อเสียง ทำให้รสชาติกาแฟเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า
– การบริการที่เป็นกันเอง : พนักงานมีการบริการที่ดีและเป็นกันเอง ทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและอยากกลับมาใช้บริการซ้ำ
– มีบรรยากาศที่ดี : การตกแต่งร้านมีสไตล์ที่ดึงดูดลูกค้า เหมาะสำหรับการนั่งทำงานหรือพบปะสังสรรค์ ทำให้ลูกค้าชื่นชอบและโพสต์ภาพร้านลงในโซเชียลมีเดีย

2. จุดอ่อน (Weaknesses) : สิ่งที่ธุรกิจยังขาดหรือต้องปรับปรุง
– ขนาดร้านเล็ก : พื้นที่นั่งมีจำกัด ทำให้ไม่สามารถรองรับลูกค้าจำนวนมากในช่วงเวลาที่มีผู้คนเยอะ เช่น ช่วงพักกลางวัน ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าต้องไปใช้บริการที่ร้านอื่น
– การตลาดออนไลน์ไม่แข็งแรง : ร้านยังไม่มีแคมเปญและยังขาดการวางแผนการตลาดออนไลน์ ทำให้ขาดการโปรโมตร้านผ่านสื่อออนไลน์ที่มีศักยภาพในการดึงดูดลูกค้าใหม่
– เมนูอาหารที่จำกัด : ร้านมีเพียงเมนูเครื่องดื่มและขนมเล็กน้อย ไม่มีอาหารคาวหรือเมนูหลากหลายดึงดูดลูกค้าที่ต้องการอาหารครบมื้อ

3. โอกาส (Opportunities) : ปัจจัยภายนอกที่สามารถใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจ
– เทรนด์การดื่มกาแฟที่เพิ่มขึ้น : ผู้คนในปัจจุบันมีความนิยมการดื่มกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบการถ่ายรูปและโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดีย การโปรโมตร้านผ่านผู้ที่มีกลุ่มผู้ติดตามในโซเชียลจึงช่วยขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้
– การขยายเมนูเพื่อเพิ่มยอดขาย : หากเพิ่มเมนูอาหารเช้าหรือขนมเพิ่มเติม อาจดึงดูดลูกค้าให้มานั่งที่ร้านนานขึ้นและสั่งอาหารมากขึ้น
– เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ : ปัจจุบันมีบริการจัดส่งอาหารมากมาย การเพิ่มบริการจัดส่งกาแฟและขนมผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ อาจช่วยเพิ่มยอดขายจากกลุ่มลูกค้าที่ไม่สะดวกมาที่ร้านได้

4. อุปสรรค (Threats) : ปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยงหรืออาจกระทบต่อธุรกิจ
– คู่แข่งในพื้นที่ใกล้เคียง : มีร้านกาแฟคู่แข่งหลายร้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน บางร้านมีพื้นที่กว้างและมีเมนูหลากหลาย ซึ่งอาจดึงดูดลูกค้าไปจากร้านของคุณได้
– ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น : ราคาของเมล็ดกาแฟนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของร้าน หากไม่สามารถปรับราคาขายได้ตามต้นทุน
– เศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง : หากเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคอาจลดการใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น การดื่มกาแฟนอกบ้าน ส่งผลให้ยอดขายลดลงได้

ดังนั้น จากการวิเคราะห์ช่วยให้เจ้าของร้านเห็นภาพรวมของธุรกิจ ร้านกาแฟสามารถวางแผนการตลาดออนไลน์ ใช้ประโยชน์จากทำเลที่ดี และหาทางขยายตลาดให้กว้างขึ้น โดยการพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันจากร้านอื่น ๆ

ข้อดีและข้อจำกัด SWOT

ข้อดี SWOT Analysis

1. เข้าใจง่ายและใช้งานได้กับทุกขนาดของธุรกิจ
เป็นเครื่องมือที่เข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือองค์กรขนาดใหญ่ ทุกคนสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่ต้องมีความรู้เฉพาะทาง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม ทำให้เป็นวิธีการวิเคราะห์ที่ครอบคลุมและเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างรวดเร็ว

2. มองเห็นภาพรวมของธุรกิจ
ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของธุรกิจ ทั้งปัจจัยภายใน (จุดแข็งและจุดอ่อน) และปัจจัยภายนอก (โอกาสและอุปสรรค) ทำให้สามารถวางแผนและตัดสินใจอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น

3. วางแผนกลยุทธ์ระยะยาว
เมื่อเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจได้ชัดเจน จะสามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสและจัดการกับอุปสรรคได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถวางแผนการพัฒนาธุรกิจในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. Brainstorm
ช่วยให้ทีมงานสามารถระดมความคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจ และสามารถสร้างแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับกลยุทธ์หรือวิธีการแก้ปัญหาได้ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือและการสื่อสารระหว่างสมาชิกในองค์กร

ข้อจำกัด SWOT Analysis

1. ขาดความละเอียด
แม้ว่าจะช่วยให้เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ แต่การวิเคราะห์นี้อาจไม่เพียงพอในบางกรณี เนื่องจากเป็นการวิเคราะห์พื้นฐาน ข้อมูลที่ได้อาจขาดความละเอียดหรือการวิเคราะห์เชิงลึกในบางปัจจัย

2. ข้อมูลที่ได้ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตีความ
การวิเคราะห์อาจจะขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของคนทำมากเกินไป การระบุจุดแข็งหรือจุดอ่อนอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหมด เนื่องจากทุกคนมักมองธุรกิจหรือองค์กรในมุมมองที่ต่างกัน

3. ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอน
เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่ข้อมูล แต่ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่นอนหรือแนะนำวิธีแก้ปัญหาอย่างละเอียด ซึ่งต้องนำผลการวิเคราะห์มาวางแผนและกำหนดกลยุทธ์ด้วยตนเอง

4. ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานเฉพาะด้าน
ในบางครั้งอาจไม่ครอบคลุมปัจจัยเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน เช่น การวิเคราะห์ทางการเงิน การวิจัยตลาด หรือการวิเคราะห์ลูกค้าในเชิงลึก


advanced-course

หากคุณอยากมีความรู้และเป็นมืออาชีพด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง IDM Council ได้เปิดคอร์สเรียนการตลาดออนไลน์ สอนโดยอาจารย์ที่ได้การรับรองมาตรฐานความรู้จากสถาบันระดับโลก มีประสบการณ์ตรง คอร์สเดียวจบ ครบทุกทักษะ ทางลัดสู่นักการตลาดมืออาชีพ

Strategic

อีกหนึ่งคอร์สที่สำหรับผู้ที่อยาก Growth Mindset คือ คอร์สเรียนวางกลยุทธ์การตลาดและการบริหาร คอร์สนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเติบโตและมีมุมมองเดียวกันกับเจ้าของธุรกิจ เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองและมีประสบการณ์ตรง วางกลยุทธ์สร้างจุดเปลี่ยน สู่จุดยืนในโลกธุรกิจ

คอร์สปลดล็อกศักยภาพการขาย  เปลี่ยนคุณเป็น Top Sales ด้วยกุญแจสำคัญในการเพิ่มยอดขาย จากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ด้วยเทคนิคจิตวิทยาสะกดใจคน การเจรจาให้ชนะทั้ง 2 ฝ่าย ไปจนถึงการเปลี่ยน Say No เป็น Say Yes และสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับลูกค้า พูดให้ใช่ ขายให้ปัง พร้อมปิดดีลอย่างมั่นใจ!

สรุป

การวิเคราะห์ SWOT เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจสถานการณ์ภายในและภายนอกอย่างชัดเจน การรู้จักจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค จะช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและเติบโตได้อย่างยั่งยืน